“แก่นตะวัน” มีชื่อเรียกอื่นว่า "ทานตะวันหัว” และ “แห้วบัวตอง”
มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Helianthus tuberosus L.
มีชื่อสามัญว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโช้ก (Jerusalem artichoke) บางทีก็เรียกว่า ซันโช้ก (sunchoke)
แก่นตะวัน เป็นพืชดอกอยู่ในตระกูลเดียวกับ ทานตะวัน มีต้นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศแคนาดา และตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น และเขตกึ่งหนาวอย่างทวีปยุโรป
แก่นตะวัน สามารถปรับตัวได้ดี ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศในเขตร้อน จึงมีการนำไปปลูกในประเทศเขตร้อนอย่างอินเดีย และทำให้เป็นที่รู้จักในหลาย ๆ ภูมิภาค
ลักษณะของแก่นตะวัน มีหัวคล้ายกับขิงหรือข่า
ลำต้นสูงประมาณ 1-1.50 เมตร มีขนตามกิ่งและใบ
ส่วนดอกมีสีเหลืองสดใสคล้ายกับดอกบัวตองและดอกทานตะวัน
(แต่ขนาดจะเล็กกว่ามาก)
แก่นตะวัน มีหัวใต้ดินคล้ายมันฝรั่ง ซึ่งมีหน้าที่สำหรับเก็บสะสมอาหาร หัวของแก่นตะวัน จัดว่ามีสรรพคุณดีเพราะมีสารอินนูลิน (Inulin) ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ โมเลกุลยาว จึงเป็นพืชพรีไบโอติก ที่มีเส้นใยสูงมาก
หากรับประทานเข้าไป จะช่วยดักจับยึดไขมันในเส้นเลือด ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ หรือ LDL ที่เรารับประทานเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปออกทางอุจจาระ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี
แก่นตะวัน มีรสชาติหวานมันคล้ายมันแกว แต่มีความกรุบกรอบเหมือนฝรั่ง สามารถนำมาทำ อาหารลดความอ้วน ควบคุมไขมันสำหรับคน และทำได้ทั้งอาหารสัตว์ ใช้ผสมอาหารให้สัตว์ ลดกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์ ทำให้สัตว์สุขภาพดี รวมทั้งเป็นพืชพลังงานทดแทน ที่สามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลได้
เมื่อนำ แก่นตะวัน มาเปรียบเทียบกับพืชอาหารช่วยลดความอ้วน ที่คนไทยรู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็นหัวบุก เม็ดแมงลัก หญ้าหมาน้อย แล้ว จะพบว่า แก่นตะวัน มีคุณสมบัติในการลดความอ้วน ดีกว่า
แม้ว่าแก่นตะวันจะเป็นพืชที่มีหัวอุดมไปด้วยแป้ง คาร์โบไฮเดรต เหมือนพืชมีหัวทั่วไป แต่แป้งในหัวแก่นตะวัน เป็นแป้งที่มีสารอินนูลิน และฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ ร่างกายย่อยสลายดูดซึมไม่ได้ จึงกลายเป็นผลดี ที่ทำให้แป้งของแก่นตะวันกลายเป็นใยอาหารที่เข้าไปช่วยทำความสะอาด เก็บกวาดของเสียในระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี กินเข้าไปแล้วรู้สึกอิ่มและขับถ่ายได้ดี ไม่เหมือนแป้งในหัวมันอย่างอื่น ที่กินไปแล้วร่างกายจะย่อยสลายดูดซึมเข้าไปสะสมเป็นไขมันทำให้อ้วน
นอกจากนี้ กากใยอาหารของแก่นตะวัน ที่มาถึงลำไส้ใหญ่
จะช่วยทำให้ภาวะลำไส้ใหญ่ที่เป็นด่าง กลายเป็น กรดอ่อน มีค่า pH อยู่ที่ 3-5
นอกจากจะทำลายแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคแล้ว ยังจะทำให้จุลินทรีย์ที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แลคโตบาซิลลัส (Lactabacillus) ไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เจริญเติบโตได้ดีส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น และยังช่วยให้ลำไส้ใหญ่ สามารถดูดซึมแร่ธาตุสำคัญจำพวก แคลเซียมและเหล็ก จากกากอาหารได้อีกด้วย
“แก่นตะวัน” สมุนไพรลดความอ้วน มีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์มากมายขนาดนี้ เพื่อนๆ หลายๆ คนคงอยากจะลองรับประทานกันบ้างแล้วใช่ไหมค่ะ เราสามารถทาน “แก่นตะวัน” ได้ทั้งแบบสด ๆ เหมือนกับผักสลัดทั่ว ๆ ไป รสชาติจะออกคล้าย ๆ แห้วและมันแกว หรือจะนำไปปรุงสุกเป็น อาหารหลากหลายเมนูอาหารลดน้ำหนัก ที่ดีต่อสุขภาพได้อีกด้วย
ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ